พี่ก็เลยไปสมัครทำงานในกองเลยค่ะ ตอนแรกได้เป็นตำแหน่งคอนทินิว ซึ่งเป็นคนดูแลความต่อเนื่องของบท จำได้เลยว่าวันแรกที่ได้บทมาอ่าน เราดีใจมากเลยที่ได้สัมผัสกับบท ตำแหน่งนี้หน้าที่นี้เราต้องคอยดูทุกอย่าง นอกจากเสื้อผ้า รายละเอียดทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องดูเรื่องอารมณ์ของตัวละครให้ต่อเนื่องกันด้วย อย่างเช่น บทสองซีนที่ต่อเนื่องกัน แต่อาจจะไม่ได้ถ่ายต่อกัน เราจึงต้องตีบทให้แตก ต้องเข้าใจอารมณ์ของตัวละคร ต้องจำให้ได้ด้วยว่าฉากนี้เค้าเล่นไว้ยังไง อารมณ์แบบไหน แล้วฉากต่อจากนี้ ควรจะเป็นอารมณ์แบบไหน จากตรงนี้ทำให้เราได้เห็นบางจุดที่มันขาดความต่อเนื่อง คิดว่ามันน่าจะสมจริงมากขึ้นอีกนิด ก็เลยลองเสนอพี่ปรัชญา ซึ่งพี่เค้าก็ให้โอกาสด้วยการรับฟังและลองให้เราเขียนมาให้ดูว่าอยากจะแก้เป็นแบบไหน พี่ปรัชญาก็ชอบ ก็เลยเอาบทที่พี่เขียนเพิ่มเติมนั้นไปถ่าย แล้วก็ให้พี่ได้มีโอกาสช่วยปรับบทในบางจุด ซึ่งต้องขอบคุณพี่ปรัชญาที่มีน้ำใจกับเรามาก ใส่ชื่อในเครดิตในหน้าที่เขียนบทให้ด้วย ทำให้เราได้มีพอร์ตในการทำงานต่อๆมาค่ะ
การเขียนบทเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ครั้งแรกที่ได้เขียนบทเต็มตัว พี่นัททำยังไงถึงได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่นี้คะ
.
. พี่ยังได้เปรียบนิดนึงที่เรามีเครดิตในบทหนังเรื่องแรก ก็เลยสามารถเอาตรงนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของโพรไฟล์ได้ ทำให้ทางนั้นเข้าใจว่าเรามีความเข้าใจ เราสามารถเล่าเรื่องได้ ตอนแรกพี่ก็ได้ลองเขียนบทซิทคอมเรื่อง”หกตกไม่แตก” ซึ่งจะเป็นตอนๆ พี่เสนอพลอตเรื่องไป 3 ตอน เพื่อดูแนวทางของเรา ทางพี่ๆเค้าก็ชอบ ก็เลยได้เริ่มเขียนบทละครจริงๆ โดยยึดโครงเรื่อง และทิศทางที่พี่ๆเค้าทำมาค่ะ
.
. ทีนี้ตอนนั้นทางเอกแซคท์เค้าจะทำละครเรื่อง “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” แล้วยังขาดคนเขียนบทเรื่องนี้ พี่ผู้กำกับก็เลยชวนมาทำ เพราะเห็นว่าเราเป็นผู้หญิง และละครเรื่องนี้มีความเป็นผู้หญิงมากๆ ก็เลยคืดว่าน่าจะเหมาะ ถือว่าเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดี ก็เลยได้ทำเป็นเรื่องแรกค่ะ เรื่องนี้ถือเป็นการเรียนรู้อย่างมหาศาลเลย พี่อิส ผู้กำกับ (อิสริยะ จารุพันธ์) รวมทั้งพี่ซูโม่เอ๋ , พี่บอย ถกลเกียรติ ก็ช่วยดูแล แนะนำหลายอย่าง เป็นการทำงานที่สนุกและมีความสุขมากๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบ learning by doing จริงๆ พอเขียนเรื่องนี้แล้วก็เลยได้เข้าไปทำงานประจำที่นั่นประมาณ 5-6 ปี แล้วก็ได้เขียนอีกหลายๆเรื่องต่อมาค่ะ แนวที่พี่เขียนก็จะเป็นแนวเด็กๆ กุ๊กกิ๊กหน่อยค่ะ
.
ขั้นตอนในการทำงานของนักเขียนบทโทรทัศน์ จะต้องทำหน้าที่อะไร มีส่วนร่วมกับละครยังไงบ้างคะ
.
ส่วนใหญ่เราจะรับงานตรงจากผู้จัดละคร โดยเค้าจะติดต่อมาว่ามีเรื่องนี้ๆ เราก็เข้าไปรับเรื่อง รับบรีฟมา เอามาลองตีความว่า ถ้าเป็นเรา เราจะเขียนเรื่องนี้ออกมายังไง ตัวละครแต่ละตัวจะมีบุคลิกแบบไหน ลักษณะประมาณไหน ในการเขียนบทเราก็ต้องระบุรายละเอียดในแต่ละฉากด้วย ส่วนการดีลกับนักแสดง จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดและผู้กำกับ เราอาจจะช่วยออกความเห็นบ้างค่ะ พอผลงานออกมาเราก็ต้องคอยติดตามดูละคร และกระแสตอบรับบ้าง ทั้งด้านดีและไม่ดี เพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อๆไปค่ะ
.
มาคุยถึงเรื่องที่กำลังฮิตสุดๆตอนนี้กันบ้างค่ะ สำหรับละครเรื่อง “อย่าลืมฉัน” อยากให้พี่นัทเล่าถึงขั้นตอนการทำงานให้ฟังหน่อยค่ะ
.
เรื่องนี้ตอนที่คุยกกับพี่ดา หทัยรัตน์ ผู้จัดละครตั้งแต่ต้น เราได้ “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” มาก่อนเลย เราก็มาคิดกันว่าจะให้ใครมาเล่นบทอื่นๆดี มาช่วยกันตีความว่า ตัวละครแต่ละตัวน่าจะเป็นประมาณไหน แล้วพี่ดากับทางผู้กำกับก็จะเป็นฝ่ายไปดูเรื่องของความเป็นไปได้ เกี่ยวกับคิว และดูเคมีของนักแสดงที่เข้ากัน ซึ่งเคมีของนักแสดงเนี่ยต้องให้คนที่เคยร่วมงานกับนักแสดงจริงๆเค้าจะดูออกว่าใครแสดงด้วยกันแล้วจะเข้ากันค่ะ
.
..
พี่นัทรู้สึกยังไงกับทีมนักแสดงนำของเรื่องนี้คะ
.
. คิดว่าลงตัวค่ะ โชคดีที่เราได้นักแสดงที่เหมาะกับบท เคมีตรงกัน และแสดงได้ดี อย่างติ๊ก ก็เล่นได้มีเสน่ห์ เวลาทำผิดก็จะเล่นได้ดูน่าเห็นใจมาก ถึงจะร้ายๆๆมาเกือบทั้งซีน กำลังจะเกลียดละ แต่พอเค้าหันกลับมาทิ้งหางตานิดเดียว หายเกลียดเลย สงสารเลย ส่วนบทสุริยาวดี บทนี้จะเป็นผู้หญิงแบบยุคโบราณแท้ๆเลย ไม่มีปากเสียง พอมีปัญหาอะไรก็เก็บไว้ ไม่พูด ไม่บอกใคร ยอมรับเอาไว้เองหมด โชคดีที่ได้แอนมาเล่นค่ะ เค้าทำได้ดีมาก พี่ก้องก็เป็นพี่เอื้อได้เหมาะ อบอุ่น เป็นชายในฝัน เวลาเข้าฉากกับติ๊กก็ดูเป็นพี่ชายที่สั่งสอนน้องชาย ส่วนเกนหลงก็เป็นสาวสมัยใหม่สวยเพอร์เฟคต์ เหมาะสม ลงตัวค่ะ
.

พี่นัทรู้สึกยังไงกับกระแสตอบรับที่แรงมากๆของเรื่อง “อย่าลืมฉัน” คะ
.
ไม่ได้คาดหวังเลยค่ะว่าจะกระแสดีขนาดนี้ บอกตรงๆเลยว่า จากที่ตอนนี้นักแสดงใหม่ๆที่กระแสแรงๆอยู่เยอะ เราไม่แน่ใจว่าคนดูจะถูกใจนักแสดงที่เราคัดเลือกมารึเปล่า แล้วเรื่องนี้ไม่มีนางร้าย ไม่มีซีนยอดนิยมประเภท ตบตี แย่งชิง ติดเกาะ อะไรที่มันหวือหวาเลย เป็นเรื่องที่เล่นกับอารมณ์ล้วนๆเลย เราก็ไม่มั่นใจว่าคนดูจะชอบแนวนี้มั้ย แต่ตอนแรกที่ออกอากาศไป เซอร์ไพรส์มากค่ะ ที่คนดูอินมาก ในโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเวบต่างๆจะเห็นว่ามีการวิเคราะห์กันด้วย ดีใจมากที่คนดูชอบและใส่ใจกับละครเรื่องนี้ค่ะ
.
เรื่องนี้มีการปรับเนื้อหาบางส่วนต่างจากนิยายต้นฉบับด้วยใช่ไหมคะ มีอะไรบ้างที่พี่นัทปรับเปลี่ยน และเพราะอะไรคะ
.
. ใช่ค่ะ ที่ปรับอย่างเห็นได้ชัด ก็คือบทเกนหลงที่เพิ่มขึ้น และความร้ายของเขมชาติที่ชัดเจนขึ้น จริงๆพี่เอื้อก็มีบทบาทมากขึ้น แต่รอดตัวเพราะเป็นผู้ชายในฝัน (หัวเราะ) เราจะปรับเนื้อหาบางส่วนให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเกนหลงเนี่ย จะเป็นตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็นไอดอลของผู้หญิงในฝันเลย ในบทประพันธ์จะแสนดียิ่งกว่าในเวอร์ชั่นนี้อีกนะคะ ในยุคนั้นจะเรียกว่าเป็นคนแฟรงค์มาก คือพอรู้ความจริงแล้วก็ไม่ว่า ไม่โกรธ เข้าใจทุกอย่าง ขอให้เขมมีความสุขก็พอ ซึ่งอาจจะค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าจะเป็นจริงในยุคนี้ ก็เลยมีการปรับนิดหน่อย ไม่งั้นคนดูคงรู้สึกอึดอัดแย่ (หัวเราะ) แต่มีคนถามมานะคะว่าอยากให้จัดการแรงกว่านี้หน่อย แต่ก็คงจะไม่ได้ เพราะมีคาแรกเตอร์ของเกนหลงที่บังคับอยู่ จะมากไปกว่านี้คงไม่ไหว
.
.
. เรามีการเพิ่มบทบาทเกนหลงเข้าไปด้วย เนื่องจากต้องการให้ตัวละครมีมิติ ให้มีการแสดงอารมณ์ออกมาบ้างค่ะ ในเชิงบทและการแสดง ตัวละครเกนหลงก็อาจจะจมหายไปเลย เราก็เติมมุมอื่นๆให้เกนหลงโดยเก็บความคูลของเค้าเอาไว้ แต่เติมไปอีกนิดว่า ที่เค้าคูล ที่เค้าดูเพอร์เฟคต์ โลกสวย เพราะเค้ายังไม่เคยเจอปัญหาที่แท้จริง เราอยากจะสื่อว่า คนเราเมื่อเจอปัญหาเข้าไปก็อาจเสียศูนย์ได้ ที่พี่ต้องเพิ่มด้านนี้ของเกนหลง เพราะเรามีการปรับเนื้อหาให้ตอนจบเอื้อกับเกนหลงแต่งงานกัน ซึ่งต่างจากในนิยายที่ทิ้งท้ายเอาไว้ ว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้เริ่มก่อตัวขึ้น แต่เราคิดว่า ในละครเรื่องนี้ คนดูจะรักสองคนนี้มาก จนไม่อยากให้จบแค่นั้น ก็เลยเพิ่มไปว่าเค้าได้แต่งงานกัน เมื่อเราจะให้ลงเอยแบบนี้ เราก็ต้องพัฒนาความสัมพันธ์ของคู่นี้ไปพร้อมๆกับการเล่าเรื่องของเขมชาติกับสุริยาวดีด้วย ทีนี้คนที่จะแต่งงานกัน มันต้องมีจุดที่ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน ได้เห็นมุมที่อ่อนแอ หรือเวลาเหวี่ยงบ้าง แล้วการที่เราจะรู้ว่าใครอยู่ข้างเราจริงๆ ก็คือตอนที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต อย่างที่เกนหลงพูดว่า พี่เอื้อเคยเห็นจุดที่แย่ที่สุดของเกนมาแล้ว จากนี้ไปพี่เอื้อคงรับได้ทุกเรื่องแล้วล่ะ ส่วนพี่เอื้อก็ไม่ได้มีแต่เอาใจเกนหลง รักกันด้วยความเป็นจริง และฉุดเกนหลงขึ้นมาได้ในวันที่แย่ ซึ่งนั่นคือสิ่งสำคัญที่คนจะแต่งงานอยู่ด้วยกันต้องเรียนรู้กัน นี่คือเหตุผลที่ได้เพิ่มบทของเกนหลงกับเอื้อขึ้นมาค่ะ
.
. แล้วที่เปลี่ยนจากบทประพันธ์แบบชัดเจนเลยคือสองตอนที่จะจบนี่ล่ะค่ะ เพราะในบทประพันธ์วดีจะหนีอย่างเดียวเลย จะไม่มีฉากที่วดีเอาคืน แล้วก็มีเพิ่มเติมในส่วนของคู่เอื้อ – เกนหลงด้วย ก็อยากให้รอชมกันนะคะ
.
.
มาถึงคำถามคาใจที่หลายคนสงสัยกันบ้างค่ะ ข้อแรก ที่พี่เอื้อถามว่าสุริยงตั้งใจกลับไปหาเขมชาติรึเปล่า ตกลงนางตั้งใจรึเปล่าคะ
.
. ตรงนี้ในนิยายก็ไม่ได้ระบุไว้ค่ะ เลยตั้งใจให้คนดูคิดเอาเองว่า จะเชื่อหรือจะไม่เชื่อที่สุริยงค์พูด แต่เท่าที่พี่ตีความนะคะ คือตอนแรกที่สมัครงานไปกับบริษัทจัดหางาน ก็ไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่พอไปรู้ว่าบริษัทที่จะต้องไปสัมภาษณ์เป็นของเขม ก็คิดว่า เอ้า ลองดู คงไม่เป็นไรมั้ง แถมได้ยินมาว่าเลขากี่คนๆก็ไม่ทนอยู่ ก็เลยอยากจะช่วย (แต่ในใจลึกๆก็น่าจะอยากเจออยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้ค่ะ )
.
.
ทำไมสุริยง ถึงไม่ยอมบอกความจริงไปล่ะคะ ปล่อยให้เขมชาติเข้าใจผิด จิกกัดรังแกตลอดเลย
.
. เพราะแนวคิดของสุริยงคือแบบสาวไทยแท่้จริงๆเลย มีอะไรก็รับไว้ เรื่องแต่งงานก็ไม่อยากพูดเพราะกลัวคนมองพ่อแม่ไม่ดี เรื่องไก่ ไข่ ก็ไม่อยากบอกเพราะไม่อยากให้ลูกเสียใจ ซึ่งเราคงคาแรกเตอร์มาจากนิยายของคุณทมยันตีเลยค่ะ
.
แล้วสำหรับเรื่องอื่นๆ พี่นัทมีวิธีการในการเขียนบทโดยอิงจากนิยายต้นฉบับอย่างไรบ้างคะ
.
. พี่ค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสได้เลือกเรื่องที่จะรับมาทำค่ะ อันดับแรกเลยพี่จึงเลือกเรื่องที่ชอบ เมื่อเราชอบ เราก็จะไม่อยากที่จะเปลี่ยนมัน เราจะเก็บสิ่งที่เราชอบเอาไว้ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรื่องไหนที่พี่อ่านแล้วรู้สึกไม่อิน หรือคิดว่าถ้าเขียนไปเราคงจะปรับหลายๆจุด ก็จะไม่รับมาเขียน เพราะเราเชื่อว่าคงมีคนที่เค้าอินกับเรื่องนั้น และทำออกมาได้ดีกว่าเรา ส่วนทางเจ้าของบทประพันธ์เองก็คงไม่มีความสุขที่ถูกเปลี่ยนเนื้อหา ที่ผ่านๆมาพอเราเขียนบทเรื่องที่ชอบ เราก็เข้าใจ และเก็บหัวใจของเรื่องเอาไว้ได้
สำหรับละครยาวที่รายละเอียดเยอะมาก พี่นัทมีวิธีการคิดเรื่อง ลำดับเรื่องยังไงบ้างคะ
.
. หลังจากอ่านนิยายแล้ว เราจะเริ่มจากเลือกเหตุการณ์สำคัญๆออกมาก่อน แล้วก็เอามาวางโครง มาลำดับว่าจะเล่าเรื่องไหนก่อน อย่างอย่าลืมฉันนี่เราเริ่มต้นที่ฉากเขมชาติเสียใจ แล้วถูกรถชนก่อนเลย แล้วกลับมาที่ปัจจุบัน ที่เปิดด้วยฉากนี้ซึ่งพี่เพิ่มเติมจากนิยายเพื่อให้เข้าใจว่า ที่เค้าร้าย มันมีที่มา เพราะเค้าเคยรักผู้หญิงคนนี้มาก ถึงขั้นเกือบตายเพราะเรื่องนี้มาแล้ว แล้วเราก็จะย้ำว่าสุริยงเนี่ยมีความสำคัญต่อเค้ามาก ด้วยหลายๆฉากหลังจากนั้น เช่นที่เขมเล่าว่าพยายามสร้างตัวเพราะมีปมจากการถูกผู้หญิงทิ้งไปแต่งงานกับคนรวย เราต้องผูกเรื่องให้น่าติดตามและอย่าลืมรักษาบุคลิกของตัวละคร เข้าใจวิธีคิดของตัวละครอย่างแท้จริงค่ะ
.
.
การเขียนบทละครสำหรับพี่นัทมีวิธีการฝึกฝนยังไง ต้องอ่านนิยายเยอะๆหรือเรียนรู้จากไหนบ้างคะ
.
. จริงๆนิยายพี่ก็ไม่ค่อยได้อ่านมากนะคะ ที่อ่านเยอะๆจะเป็นหนังสือเขียนบทมากกว่า พวกหนังสือที่สอนเขียนบท ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ เราก็เอามาศึกษาเอง ตรงนี้เป็นด้านหลักการที่เราต้องใช้ ผสมกับจินตนาการของเราเข้าไป และเราก็ต้องหมั่นสังเกต ทำความเข้าใจคนด้วยค่ะ พี่ค่อนข้างชอบสังคมพอสมควรค่ะ ชอบออกไปพบปะผู้คน ชอบเที่ยวมาก ไม่ชอบนั่งเก็บตัวในห้องทำงานอยา่างเดียว การที่เราได้พบเจอคน ไปเที่ยวมันก็ทำให้เราได้แหล่งข้อมูลมาทำงานด้วยค่ะ หรือบางทีเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เอางานไปทำข้างนอก ก็ทำให้คิดอะไรได้มากขึ้นด้วยค่ะ
.
คนที่อยากเขียนบทละคร จะต้องฝึกฝนตัวเองยังไงบ้างคะ
.
. อันดับแรกเลยต้องชอบดูละครค่ะ จะละครไทย ฝรั่ง เกาหลีอะไรก็ได้ ต้องชอบดูและเข้าใจในการเล่าเรื่องแบบละครก่อน ว่ามันคือเรื่องยาวๆ ที่ต้องทำให้คนติดตามตลอด โดยไม่เปลี่ยนช่อง และรอดูตอนต่อไป ลีลาในการเล่าเรื่องก็สำคัญ ไม่ว่าเราจะเขียนแนวไหน ก็ต้องวางน้ำหนักให้มีหลายอารมณ์ด้วย อย่างเรื่องที่เน้นตลก ก็ต้องมีซีนอารมณ์ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ตลกอย่างเดียว
.
. สองก็คือชอบเขียน ก่อนอื่นเลยต้องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง ทั้งในชีวิตประจำวันด้วย
‘
. สามต้องมีความกระตือรือร้น ถ้าตั้งใจอยากจะทำ ก็ต้องทำเลย มีคนถามพี่เยอะว่าอยากเขียนบททำยังไง พี่ก็จะบอกว่า ต้องเขียนเลยค่ะ อย่ารอให้โอกาสมาหาเราเอง เราต้องเข้าไปหามัน อย่างพี่เองก็เข้าไปหาโอกาส ใครสนใจอยากทำงานด้านนี้ กองละครมีมากมาย เราก็ลองเข้าไปอยู่ในนั้นเพื่อหาประสบการณ์ หรือลองเขียนบทไปเสนอ บางคนกว่าจะได้เขียนบทก็ใช้เวลาหางานเป็นปี อย่าท้อค่ะ
.
. คนที่จะเขียนบทจะต้องช่างสังเกต ต้องเข้าใจมนุษย์ เพราะตัวละครของเราเป็นคน เราต้องเข้าใจคนอย่างถ่องแท้ แล้วงานเขียนเนี่ยคนชอบมองว่าเราชิลๆ ที่จริงไม่นะคะ เราต้องศึกษาทุกอย่างรอบตัวตลอด ต้องคิดตลอด บางทีเราทำงาน 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ ถ้าเราแบ่งเวลาไม่เป็นก็แย่เลย อย่างของพี่ถ้าเขียนละครโรแมนติกคอเมดี้เราก็จะสบายใจหน่อย แต่บางทีเขียนบทเรื่องที่มันหนักๆ อย่างสวรรค์เบี่ยง เราหมกมุ่นกับมันมากเราก็เครียดไปด้วยเหมือนกัน จิตใจก็ไม่ค่อยดี ต้องรู้จักปิดสวิตช์ค่ะ
.
.
พี่นัทมีไอดอลในการทำงานมั้ยคะ
.
. ไอดอลของพี่คือ อาจารย์ศัลยาค่ะ อาจารย์อายุ 70 แล้วแต่ยังเปรี้ยวอยู่เลย ผลงานของอาจารย์ก็เปรี้ยวอยู่ อย่าง “ดอกส้มสีทอง”
.
ผลงานเรื่องไหนที่พี่นัทภูมิใจที่สุดคะ
.
.. จริงๆแล้วเรื่องที่พี่คิดว่าเป็นตัวเราที่สุดแล้ว ก็คือเรื่องแรกเลยค่ะ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” เป็นเรื่องที่มีความโชคดีหลายอย่างด้วย ทั้งนักแสดงที่ดี ทุกคนลงตัวมากๆ ทุกคนใช่มากๆ เพลงก็ดี การถ่ายทำก็ดี การทำงานก็สนุก แล้วก็เป็นแนวละครที่ชอบมากด้วย ก็เลยเป็นเรื่องที่ประทับใจที่สุดค่ะ ส่วนอันดับสองก็คือเรื่อง “ชายไม่จริงหญิงแท้” ที่เป็นโรแมนติกคอเมดี้เหมือนกันค่ะ
“
สุดท้ายนี้อยากให้พี่นัทฝากอะไรถึงน้องๆที่อยากทำงานแบบพี่นัท หรือมีงานในฝัน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงสักหน่อยนะคะ
.
. พี่เคยมีคำถามในใจมานานมาก ตอนปี 1 คณะพี่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ พี่ก็ได้พบท่านพุทธทาส พี่ถามท่านว่า ถ้าเรารู้จักพอตามหลักพุทธศาสนา เราจะไม่เป็นคนขี้เกียจเหรอคะ ท่านตอบว่า คนทื่คิดแบบนั้นคือคนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างแท้จริง พี่เลยปิ๊งเลย พี่ก็ไปศึกษาเพิ่มเติม จนได้ไปพบหนทางสู่ความสำเร็จคือ อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และมีข้อหนึ่งที่บอกว่า เราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานที่เราทำอยู่เสมอ แล้วพี่ก็ยึดหลักนี้มาตลอด เราอยากจะทำอะไร เราต้องศึกษาให้ดี ลงมือทำ เมื่อทำแล้วก็ยังต้องศึกษาต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่ เมื่อเราเริ่มศึกษาอะไรจริงๆจังๆแล้ว เราจะเห็นหนทางที่จะไปสู่สิ่งนั้นเอง เช่นอยากเขียนบท ก็ต้องศึกษา ฝึกฝน ไปเรียน ไปหาความรู้ หาประสบการณ์ โดยเฉพาะน้องๆยุคใหม่ที่มีหน้าต่างในการเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต คอร์สเรียนต่างๆ เราก็เดินเข้าไป เราอย่ามัวนั่งถามตัวเองว่า เราจะทำอะไร จะทำยังไง หาคำตอบให้ตัวเองแล้วเดินไปข้างหน้าเลยค่ะ
.
.
. เป็นยังไงบ้างคะ ไอดอลของเราในวันนี้ GFC ขอขอบพระคุณพี่นัทมากๆนะคะ นอกจากเล่าเบื้องหลังละครสนุกๆให้ฟังแล้ว ยังให้ข้อคิดดีๆไว้หลายอย่างเลย ใครที่เป็นแฟนละคร “อย่าลืมฉัน” ก็อย่าพลาดตอนอวสาน พฤหัสนี้แล้วนะคะ สำหรับผลงานต่อไปของพี่นัท ติดตามได้ในเรื่อง “หนึ่งในทรวง” แสดงนำโดยน้องญาญ่า และเจมส์จิค่ะ
.
.
. ส่วนใครที่อยากติดตามผลงานของพี่นัท พูดคุย หรืออยากศึกษาเกี่ยวกับการเขียนบท เข้าไปติดตามและคุยกับพี่นัทได้ที่ fanpage ณัฐิยา ศิรกรวิไล นะคะ
.
.
.
ขอบคุณภาพประกอบจาก fanpage ณัฐิยา ศิรกรวิไล ,ละครออนไลน์ , sanook.com , kapook.com , t-pageant.com